ต่อมา พ.ศ.2476 – 2477 ทางราชการได้เปลี่ยนหลักสูตร เปิดการสอนตั้งแต่ ป.1 – ป.6 (ชั้นประถมปีที่ 1 – 6) ทุกโรงเรียน พ.ศ.2477 ทางราชการได้ยกฐานะโรงเรียนสาขาเป็นโรงเรียนเอกเทศ ฉะนั้น โรงเรียนสาขาวัดบ้านคำเนียมจึงเป็นโรงเรียนเอกเทศ โรงเรียนประชาบาลตำบลดูน 2 (วัดบ้านคำเนียม) ดำรงตนเป็นเอกเทศ ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ.2480 กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ได้เปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีกคือ ให้มีเพียงชั้นประถมปีที่ 1 – 4 ชั้นแรกเข้าเรียน เรียกว่าชั้นเตรียมประถม ในปีเดียวกันนี้ ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่บ้านดูน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2480 มีหมู่บ้านเข้าเรียนดังนี้ 1. บ้านดูน 2. บ้านแดง 3. บ้านสิม 4. บ้านหนองโน จึงขาดจากโรงเรียนบ้านคำบอนตั้งแต่นั้นมา
ใน พ.ศ.2482 ทางราชการได้สร้างโรงเรียนถาวรขึ้นทางทิศตะวันออกของโรงเรียนชั่วคราวนี้และได้นำนักเรียนขึ้นเรียนครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2482 หลังเก่ารื้อสร้างบ้านพักครูได้ 2 หลัง หลังได้ทำพิธีเปิดป้ายฉลองเมื่อวันที่ 23 – 25 มิถุนายน พ.ศ.2482 3 วัน 3 คืน จึงได้นามโรงเรียนว่า “โรงเรียนราชประชาตำบลดูน 1” (กันทรารมย์วิทยา) ต่อมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ทางราชการได้ย้ายนายมี จันทร์พวง ครูใหญ่โรงเรียนบัวน้อย 1 ตำบลบัวน้อย บ้านบัวน้อย มาเป็นครูใหญ่แทน
การสอนการปกครองดำเนินไปตามปกติ โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อตามสมัยนิยมคือ โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา)เปิดสอนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทางราชการกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ อยู่ในบริเวณเดียวกับโรงเรียนเดิม โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) คือโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2499 เป็นโรงเรียนรัฐบาลจัดตั้งดำรงอยู่ได้โดยเงินงบประมาณของแผ่นดิน สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ สอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ต่อมารัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เมื่อ พ.ศ.2504 จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 7 โดยนายมี จันทร์พวง เป็นครูใหญ่คนแรก ส่วนโรงเรียนบ้านคำบอน(กันทรารมย์วิทยา) นั้น มีนายนิคม บุญศักดิ์ เป็นครูใหญ่ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 นายมี จันทร์พวง ได้ลาออกจากราชการ
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2513 ทางราชการได้ยุบโรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) มารวมเข้ากับโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม และใช้ชื่อเป็น “โรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม” ตามประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2513 ลงชื่อโดย นายดำเกิง สุรการ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และแต่งตั้งนายโอภาส กันยะกาญจน์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ นายเนียม บัวทอง ผู้ช่วยครูใหญ่คนที่ 1 นายสุพจน์ วงศ์เจริญ ผู้ช่วยครูใหญ่คนที่ 2 ให้นายนิคม บุญศักดิ์ ครูใหญ่โท โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โทโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม ทำหน้าที่ครูวิชาการอำเภอกันทรารมย์
ในปีการศึกษา 2513 โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมปีที่ 7 มีชั้นเรียนทั้งหมด 32 ห้องเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนต้น 17 ห้องเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 15 ห้องเรียน มีครู 32 คน นักเรียนทั้งสิ้น 921 คน ภารโรง 4 คน โรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงทั้งตังบุคคล อาคารสถานที่เรื่อยมา เขตบริเวณโรงเรียนจึงมี 42 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 มีผู้บริหารตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันจำนวน 18 คน ปัจจุบันผู้อำนวยการคือ นายพงษ์ นวลศิริ (คบ.บริหารการศึกษา) โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีอาคารเรียน 4 หลัง อาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง ส้วม 5 หลัง บ้านพักครูเดี่ยว 7 หลัง บ้านพักภารโรง 1 หลัง เป็นโรงเรียนโครงการปฏิรูป พ.ศ. 2539 มีห้องปฏิบัติการ 4 ห้อง คือ ห้องปฏิบัติการทางภาษา 1 ห้อง ห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 2 ห้อง เป็นโรงเรียนในโครงการนำร่องทางการศึกษา เปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2544 ขณะนี้มีครู 56 คน ภารโรง 4 คน มีนักเรียน 1,150 คน เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่ โรงเรียน ครู และนักเรียน ได้รับเกียรติบัตรทางวิชาการดีเด่นระดับอำเภอ เขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ
ปีการศึกษา 2551 ได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านและโรงเรียนพระราชทานระดับปฐมศึกษาในปี้เดียวกัน ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.105/29 ขนาด 2 ชั้น 4 ห้องเรียน จำนวน 2,600,000 บาท และอาคารเรียนชั้นเดียวเป็นอาคาร E –LEARNING จำนวน 1,900,000 บาท พร้อมได้รับการจัดสรรคอมพิวเตอร์ จำนวน 30 เครื่อง
คำขวัญประจำโรงเรียน :
เรียนดี มีวินัย ใฝ่กีฬา พัฒนาสิ่งแวดล้อม
สีประจำโรงเรียน :
ขาว แดง
ปรัชญาโรงเรียน :
นตฺถิ ปญา สมา อาภา (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี)
ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน : นายศิริ สุภาพ
อัตลักษณ์ของโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์
“ ใฝ่เรียนรู้ ”
ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง ผู้ที่มีลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมในการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ จากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม บันทึกความรู้ วิเคราะห์ สรุปเป็นองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เอกลักษณ์: มีแหล่งเรียนรู้ เชิดชูท้องถิ่น
มีแหล่งเรียนรู้ หมายถึง นักเรียนได้แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายใน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการค้นหาเด็กอัจฉริยะ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องเรียนวิถีพุทธ ห้องเรียนธรรมชาติ ห้องดูหนังฟังเพลง ห้องประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ภายนอก ได้แก่ โรงพักกันทรารมย์ ไปรษณีย์กันทรารมย์ ที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์ โรงพยาบาล ตลาดอำเภอกันทรารมย์ หม้อดินบ้านโพนทราย กลองตุ้มกันทรารมย์ แหล่งปลูกหอมกระเทียมกันทรารมย
เชิดชูท้องถิ่น หมายถึง การจัดกิจกรรมสืนสานวัฒนธรรมอำเภอกันทรารมย์
โดยโรงเรียนได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ลำน้ำมูลชีวิถีกันทรารมย์ ทุกภาคส่วนได้มาร่วมแสดงแสงสีเสียงในคืนที่ ๕ – ๗ เดือนมีนาคม ๒๕๕๓ การแสดงกลองตุ้ม การแสดงของดีกันทรารมย์ รำวงพื้นบ้านย้อนยุค วิถีชีวิตอำเภอกันทรารมย์ กีฬาพื้นบ้าน การแสดงโปงลาง การลงข่วง ทอดแห หาปลา พระยากันทรารมย์ ภรรยา มหาดเล็กทหารคู่บารมี ชาวบ้านอพยพตั้งถิ่นฐาน นำมาบันทึกความรู้ วิเคราะห์ สรุปเป็นองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน