1. ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนบ้านผักหย่า ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ที่วัดบ้านผักหย่า
โดยอาศัยศาลาการเปรียญเป็นที่เรียน เดิมชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาล” เปิดสอนครั้งแรกระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้ร่วมก่อตั้งคือ ขุนศุภกิจวิเลขา นายอำเภอพิบูลมังสาหาร และขุนหลวงสุนานน ศึกษาธิการอำเภอพิบูลมังสาหาร และเจ้าอาวาสวัดบ้านผักหย่าพร้อมด้วยชาวบ้าน
วันที่ 7 เมษายน 2492 ได้ย้ายมาตั้งในพื้นที่ของโรงเรียนในปัจจุบัน ที่บ้านแก่งโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งเป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ได้สร้างเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงชั้นเดียวมี 4 ห้องเรียน
โดยการนำของพระอธิการอ่อน มุทุโก เจ้าอาวาสวัดบ้านผักหย่าร่วมกับชาวบ้านดำเนินการก่อสร้างเปิดทำการเรียนการสอนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านผักหย่า”
ปีการศึกษา 2540 ได้รับอนุมัติให้เปิดขยายชั้นเรียนจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาจนถึงปัจจุบัน
2. สภาพปัจจุบัน
2.1 สภาพพื้นที่ทั่วไป
พื้นที่ตั้งโรงเรียนเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำโดมใหญ่ ติดถนนลาดยางเป็นถนนสายหลักเชื่อมจากอำเภอสู่ตำบลไร่ใต้
ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนและถนนทางเข้าโรงเรียนเกือบทุกปี มีพื้นที่จำนวน 16 ไร่
ระยะทางจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตรระยะห่างจากศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 39 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับหมู่บ้านโนนศิลาอ่อน หมู่ที่ 15 ตำบลโพธิ์ไทร
ทิศใต้ ติดกับบ้านไร่ใต้ หมู่ที่ 4 ไร่ใต้
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านภูมะหรี่ หมู่ที่ 16 ตำบลดอนจิก
ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำลำโดมใหญ่
2.2 ด้านการเมืองการปกครอง
โรงเรียนบ้านผักหย่า ตั้งอยู่ในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลไร่ใต้มีเขตพื้นที่หมู่บ้านในเขตบริการ 4 หมู่บ้าน คือ
-
บ้านแก่งโพธิ์ หมู่ที่ 1
-
บ้านผักหย่า หมู่ที่ 2
-
บ้านผักหย่า หมู่ที่ 3
-
บ้านนาคลอง หมู่ที่ 12 บางส่วน
2.3 ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
ประชากรส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาจบระดับการศึกษาภาคบังคับ
ผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการศึกษาของบุตรหลานอยู่ในระดับปานกลาง
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นสังคมแบบครอบครัวใหญ่
2.4 ด้านเศรษฐกิจ
อาชีพประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์และรับจ้างทั่วไป
ผู้ปกครองบางส่วนมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในเขตชลประทานลำโดมน้อยสามารถทำการเกษตรได้ปีละ 2 ครั้ง
รายได้เฉลี่ยของผู้ปกครองประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อปี ฐานะผู้ปกครองอยู่ในระดับยากจนและปานกลาง
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2019-07-23 10:10:59 น.